โดย : วินิจ รังผึ้ง
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันออกพรรษาซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2553 เทศกาลวันออกพรรษาถือเป็นวันเวลาสำหรับการทำบุญใหญ่ของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยสืบเนื่องจากที่พระภิกษุสงฆ์ได้เข้าจำพรรษาในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันเข้าพรรษาที่เริ่มจากวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เมื่อจำพรรษาครบกำหนดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็เป็นวันออกพรรษา ซึ่งจากนี้ไปพระภิกษุสงฆ์จะสามารถเดินทางไปปฏิบัติกิจของสงฆ์และพักค้างคืนที่อื่นได้ วันออกพรรษานี้ในทางสงฆ์ยังถือเป็น " วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" ซึ่งมีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ในการว่ากล่าวตักเตือน เป็นเสมือนการเปิดใจในการรับฟังสิ่งที่ควร มิควร หลังจากการจำพรรษาร่วมกันมาเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นการเตือนให้พึงระวังในการประพฤติปฏิบัติตนให้สำรวมระวังกาย วาจา ใจ และดำรงตนตามวัตรปฏิบัติที่ดีงาม ซึ่งการปวารณาตนให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือน ด้วยความปรารถนาดีต่อกันและนำไปปรับปรุงวัตรปฏิบัติให้เกิดความดีงามแก่ตนนั้น ผู้คนในสังคม หรือในที่ทำงานองค์กรใดจะนำไปปฏิบัติบ้างก็น่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
ในช่วงออกพรรษาจะมีเทศกาลงานบุญที่เกี่ยวข้องมากมายจัดขึ้นในท้องที่ต่างๆทั่วทุกภาคของประเทศ โดยหนึ่งในงานบุญใหญ่ที่ผู้คนรู้จักกันดีก็ต้องยกให้งานประเพณีตักบาตรเทโว ที่วัดสังกัสรัตนคีรี จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งปีนี้จะมีการจัดงานระหว่างวันที่ 19-24 ตุลาคม โดยกิจกรรมในงานก็จะมีมากมายทั้งการแสดงแสงเสียง การแข่งขันเรือยาวประเพณีในลำน้ำสะแกกรัง และการออกร้านจำหน่ายของดีเมืองอุทัยธานี แต่วันสำคัญที่สุดของงานก็คือวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งจะเป็นวันตักบาตรเทโว ซึ่งจะเริ่มงานกันในตอนเช้าตรู่ โดยงานประเพณีตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วนั้น เขาจัดกันอย่างยิ่งใหญ่โดยจะมีพระภิกษุเดินบิณฑบาตเป็นแถวลงมาจากยอดเขาสะแกกรัง เป็นการจำลองการเสด็จลงจากสรวงสวรรค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามตำนานการ " ตักบาตรเทโว" หรือ "เทโวโรหนะ" ที่มีความหมายว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือชาวบ้านเรียกการตักบาตรนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" ตามความเชื่อในตำนานที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสรวงสวรรค์เพื่อเทศนาโปรดพระพุทธมารดา และเมื่อครบกำหนด 3 เดือนในวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าก็เสด็จกลับลงมาจากสรวงสรรค์ พุทธศาสนิกชนก็มารอตักบาตรรับการเสด็จลงมา ซึ่งก็ได้เป็นความเชื่อที่กลายมาเป็นประเพณีตักบาตรเทโวสืบมาจนถึงปัจจุบัน
การตักบาตรเทโวนั้นมีปฏิบัติกันมากในจังหวัดแถบภาคกลาง โดยที่จังหวัดอุทัยธานีนั้นจัดได้อย่างยิ่งใหญ่สวยงาม โดยนิมนต์พระภิกษุจากทุกอำเภอในจังหวัดอุทัยธานี มารับบิณฑบาต ซึ่งเมื่อเดินเรียงแถวลงมาจากยอดเขาตามบันไดที่มีถึง 449 ขั้น อันเป็นภาพที่สวยงามเหมือนการเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกอำเภอในจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดใกล้เคียงจะนำอาหารคาวหวานมาเข้าแถวรอตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ โดยตามประเพณีพื้นบ้านดั้งเดิมของภาคกลางนั้น ชาวบ้านนิยมทำข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน ซึ่งทำจากข้าวเหนียวข้างในมีไส้กล้วยคล้ายกับข้าวต้มมัด แต่นำมาทำปั้นรูปทรงกลมรี ปลายสอบลูกเท่ากำปั้นห่อด้วยใบข้าวโพดแล้วปล่อยให้มีปลายหางใบข้าวโพดออกมาเป็นสายใช้จับหิ้วได้ ซึ่งในตำนานเล่าว่าการตักบาตรเทโวนั้นเป็นงานบุญใหญ่ที่มีผู้คนแห่แหนไปทำบุญกันเป็นจำนวนมาก จนแทบจะเข้าไปไม่ถึงพระที่มารับบิณฑบาต ชาวบ้านจึงทำเป็นขนมลูกโยน มาเพื่อสะดวกในการโยนลงภาชนะกระบุง กระจาดที่ทางมัคนายกแห่มารับถวายของตามแถวพระภิกษุสงฆ์ ใครที่ยังไม่เคยไปร่วมงานบุญตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานี ออกพรรษาปีนี้ก็ลองหาโอกาสไปร่วมทำบุญกันนอกจากการตักบาตรเทโวที่วัดสังกัสรัตนคีรีแล้ว ในประเพณีตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานีปีนี้ก็ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น การตักบาตรทางน้ำที่ลำน้ำสะแกกรัง ซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญของจังหวัดอุทัยธานีที่ยังคงมีบรรยากาศเรือนแพและบ้านเรือนริมน้ำตามวิถีดั้งเดิมแบบไทยๆให้เที่ยวชม ยิ่งมีการพายเรือบิณฑบาตด้วยแล้ว น่าจะเป็นภาพที่สวยงามยิ่งซึ่งจะหาดูได้ยากในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการแข่งเรือพื้นบ้าน อาทิ เรือหัวใบ้ท้ายบอด การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การแสดง แสง เสียง ณ บริเวณวัดสังกัสรัตนคีรี ให้เที่ยวชมกัน เมื่อร่วมบุญร่วม กิจกรรมตามประเพณีแล้ว ก็น่าที่จะแวะไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของจังหวัดอุทัยธานี เช่นแวะไปเที่ยวชมวัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม ที่ตั้งอยู่ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง ซึ่งเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง โดยในอดีตที่ยังมีการล่องซุง ท่าน้ำหน้าวัดมักเป็นที่จอดแพซุงที่ล่องผ่าน จึงเรียกกันว่าวัดท่าซุง ซึ่งวัดนี้แต่เดิมมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำ พระเกจิอาจารย์นักปฏิบัติชื่อดังที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายมาจำพรรษาที่นี่และได้พัฒนาวัดแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วประเทศ ท่านได้ทำการขยายพื้นที่ของวัดออกไปอย่างกว้างขวาง ได้ก่อสร้างโบสถ์ วิหาร และอาคารภายในวัดที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะวิหารแก้วที่ประดับด้วยโมเสกกระจกเงาชิ้นเล็กๆจำนวนมากมาย วิหารทั้งหลังที่มีความยาว 100 เมตรจึงงดงามแวววาวราวกับประดับด้วยแก้วมณี ถ้าไปอุทัยธานีมีเวลาและมีโอกาสก็อย่างพลาดแวะไปเที่ยวชม
นอกจากวัดวาอาราม วิถีชีวิตผู้คนในลุ่มแม่น้ำสะแกกรังแล้ว อุทัยธานียังมีธรรมชาติให้คนรักธรรมชาติชื่นชม เช่นการเข้าไปศึกษาธรรมชาติที่ผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง หรือแวะไปชมสภาพป่าดึกดำบรรพ์ที่หุบป่าตาด ก็ล้วนน่าสนใจ และที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของจังหวัดอุทัยธานีก็คือ อุทัยธานีนั้นเป็นเมืองอาหารอร่อย โดยเฉพาะอาหารประเภทกุ้ง ปลา สดๆจากแม่น้ำ เพราะอุทัยธานีมีแม่น้ำสำคัญสองสายไหลผ่านคือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง อุทัยธานีจึงเป็นเมืองปลาที่อุดมสมบูรณ์ จนมีปลาแรดเป็นสัญลักษณ์ ชาวบ้านริมแม่น้ำมีอาชีพทางการเกษตรและหาปลา เลี้ยงปลาในกระชัง จึงมีปลาสดนานาชนิดให้ชิมกันมากมาย ประกอบกับการปรุงอาหารรสชาติแบบพื้นบ้านที่เข้มข้น ถึงรสชาติตามแบบฉบับของชาวอุทัยธานี ร้านอาหารประเภทเรือนแพริมน้ำส่วนใหญ่ในอุทัยธานีจึงมักไม่ทำให้คนชอบกินปลาผิดหวัง ผมขึ้นต้นด้วยการชวนไปเที่ยววัดไปตักบาตรทำบุญ แต่มาลงท้ายด้วยการชวนชิมอาหารประเภทปลาซึ่งดูออกจะขัดๆกันสักนิด แต่ก็นำมาเรียนให้ทราบกันไว้ในข้อมูลทุกๆด้าน ส่วนท่านจะเลือกแวะไปเที่ยว แวะไปทำบุญ แวะไปชม แวะไปชิมที่ไหนอย่างไร ก็แล้วแต่ความชอบและอัธยาศัยของแต่ละท่าน อุทัยธานีเมืองใกล้ๆกรุงเทพฯ ที่ใช้เวลาขับรถราว 2 ชั่วโมงแค่นี้ หากมีเวลาว่าก็ลองแวะเวียนไปเที่ยวชมกันครับ
Travel - Manager Online - ตักบาตรเทโวอุทัยธานี / วินิจ รังผึ้ง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น